Monday, August 15, 2011

ปัจจัยในการเลือกที่เรียน เรียนในประเทศ หรือ เรียนต่างประเทศ และเรียนประเทศไหนดี

เมื่อเราตัดสินใจได้แล้วว่าจะเรียนปริญญาโทหรือปริญญาเอก หรือคิดได้ว่าจะเรียน ก็คงต้องคำนึงถึงเรื่องต่อไป คือจะเรียนที่ไหน (ความจริงเรื่องที่เรียน และ การตัดสินใจจะเรียน หรือเรื่องต่อไป จะเลือกเรียนอะไร นั้นเป็นคำถามรวมๆ ไม่ได้เป็นลำดับอย่างที่มาเล่าให้ฟังที่นี่ แต่เพื่อความเข้าใจได้ง่าย ว่าอะไรเป็นปัจจัยฝนแต่ละข้อจึงแยกกล่าวไว้)

สำหรับที่เรียน ก็แบ่งกว้างๆ เป็นเรียนในประเทศ และเรียนต่างประเทศ สำหรับในประเทศ อาจจะแบ่งเป็นเรียนใกล้บ้านหรือต้องไปเรียนในจังหวัดอื่นที่ตนเองไม่ได้อยู่มาก่อน เรื่องโลเคชั่นหรือสถานที่ อาจจะไม่ใช่ปัญหานัก ถ้าได้เรียนในระดับก่อนหน้านี้ในที่นั้นอยู่แล้ว เช่นเด็กที่เรียน เอ เลเวล อยู่ที่อังกฤษ หรือ ไฮสกูลอยู่ที่อเมริกา อยู่แล้ว ก็คงเข้าใจ สภาพ และสถานที่นั้นอยู่แล้ว และคงบอกได้ว่า ชอบหรือ ไม่ชอบ หรือ ต้องการเปลี่ยนบรรยากาศ อันนี้ ก็คงต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มถึงที่ที่เราจะไปเรียน เช่นเดียวกับในประเทศ บางคนจากบ้านไปเรียนที่อื่น เช่น จากต่างจังหวัดไปกรุงเทพ บางคนจากกรุงเทพไปเรียนต่างจังหวัด แต่ถ้าจะเปลี่ยนที่ ก็ควรจะศึกษาข้อมูลเช่นกัน แต่การปรับตัวคงไม่มากนักในการเรียนในประเทศ เมื่อเทียบกับความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในการไปเรียนต่างประเทศ หรือต่างประเทศ

แต่เรื่องแรกที่ควรจะตัดสินใจ ก็ควรจะเกี่ยวกับเรื่องที่จะไปเรียนหรือไปทำวิจัย ว่าทำไมถึงเรียนในประเทศไม่ได้ (อันนี้ก็ต้องไปแน่ๆ) หรือเรียนต่างประเทศ แล้วได้ประโยชน์กับเรามากกว่าเรียนในประเทศ (เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่าย และสิ่งต่างๆ ที่ต้องปรับตัวเมื่อจะไปเรียน) หรือ แค่ไปเรียนต่างประเทศ เพราะต้องการประสบการณ์ ด้านอื่น ติดตามคู่ของตน เพื่อน หรือ พ่อแม่ต้องย้ายสถานที่ (เช่นลูกทูตหลานเธอ หรือ พวกทำบริษัทข้ามชาติ) อันนี้ก็แล้วแต่บริบทของใครของมัน

แต่สำหรับผม แล้ว การไปเรียนต่างประเทศ ปัจจัยสำคัญที่สุด ก็คือ การไปเรียนสาขาที่ไม่สามารถศึกษาได้ในเมืองไทย หรือ การศึกษาในสาขานั้นๆ ในเมืองไทย มีแต่คุณภาพในการศึกษา โอกาส หรือ ทรัพยากร อาจจะยังไม่ดีเท่าในประเทศอื่นนั้น ส่วนผลพลอยได้ ก็คงเป็นประสบการณ์ ในต่างแดน เปิดโลกทัศน์ และอาจจะเป็นเรื่องของภาษา วัฒนธรรม ได้ใช้เวลาในที่อื่น ที่อยู่ได้ยาก หรือบางคนอาจจะหาโอกาสการทำงานในประเทศนั้นๆ

สำหรับประเทศที่เลือกไปเรียน ข้อจำกัดสำคัญอันหนึ่งคงเป็นเรื่องของภาษา ถ้าเรามีแต่ภาษาอังกฤษ ก็คงไปได้เฉพาะประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ เป็นหลัก หรือในหลักสูตรนั้นสอนเป็นภาษาอังกฤษ (แต่ต้องไม่ลืมว่า ในชีวิตประจำวันนั้น เราอาจจะไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้เหมือนในห้องเรียน) แต่ถ้าเรามีต้นทุนภาษามากๆ เราก็มีโอกาสมาก เช่น ภาษาญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมัน รัสเซีย สเปน อิตาลี จีน อาหรับ ประเทศ ในยุโรป จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น อังกฤษ อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ เหล่านี้ก็เป็นประเทศที่คนไทยเลือกไปเรียนต่อกันมาก โดยเฉพาะ อเมริกา และอังกฤษ คงเป็นประเทศยอดนิยม ที่คนไทยเลือกไปเรียนต่อกันมากที่สุด

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการเลือกประเทศที่ไปเรียน ก็คือระบบของการเรียน และระยะเวลาในการเรียนที่แตกต่างกัน ประเทศอังกฤษ และยุโรป มีข้อได้เปรียบอเมริกาในด้านระยะเวลาเรียน ซึ่ง ป โท ในอังกฤษ และยุโรปใช้เวลาเพียงหนึ่งถึงสองปี ในขณะที่ปริญญาเอก ก็ใช้เวลาเพียงสามถึงสี่ปี แต่ ของอเมริกา โดยทั่วไปจะมากกว่ายุโรป หนึ่งถึงสองปีในแต่ละระดับ เพราะมีความจำเป็นต้องเรียนคอร์สเวิร์ค หรือ วิชาที่เก็บเครดิตก่อน จะเข้าสู่การทำวิจัยจริงจัง ในขณะที่ของอังกฤษมักจะเข้าสู่การทำวิจัยโดยตรงเลย โดยฌฉพาะระดับปริญญาเอก แบบเดิม ทำให้อาจไม่มีความกว้างเท่าระบบอเมริกัน และค่อนข้างโฟกัสหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมากเกินไป ในปัจจุบันระบบอังกฤษ ก็มีการปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะในสายวิทยาศาสตร์ จึงมีหลักสูตรปริญญาเอกแบบสี่ปี ซึ่งให้ปีแรกได้มีโอกาส สำรวจความต้องการหรือความสนใจ และเรียนรู้วิทยาการวิจัย และองค์ความรู้ก่อนจะเลือกทำวิจัยลงลึกในปีที่สอง ถัดไป จนจบ ในขณะที่หลักสูตรอเมริกันก็มีคนกล่าวว่าเรียนกว้างมากเกินไป จนเกินความจำเป็นในปีแรกๆ ทำให้ไม่สามารถโฟกัสงาน ได้ ก็นับเป็นสิ่งที่แตกต่างกันไป สำหรับข้อมูลความแตกต่างของระบบในแต่ละประเทศ นั้น เราก็ควรศึกษาเพิ่มเติมให้เห็นเสียก่อนที่จะตัดสินใจเลือกประเทศ

สำหรับเหตุผลในด้านระบบและระยะเวลา รวมทั้งภาษา (จำกัดเฉพาะอังกฤษ) ทำให้ผู้เขียนเลือกเรียนที่ประเทศอังกฤษ เพราะใช้ระยะเวลาที่สั้นกว่า (เนื่องจากผู้เขียนมีความตั้งใจจะไปเรียนสาขาเฉพาะทางที่อเมริกาต่อ) และเลือกทำสิ่งที่สนใจได้ทันที ไม่ต้องใช้เวลาไปกับสิ่งอื่นๆ ที่อาจจะไม่สำคัญ (แต่ความจริงข้อนี้ ก็ทำให้อาจารย์หลายคนคัดค้านการเรียนที่อังกฤษ ซึ่งก็ต้องชั่งน้ำหนักกันไปในแต่ละคน)

วันนี้คงจะเล่าภาพใหญ่ของปัจจัยในการเลือกดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ทีนี้ก็ยังมีเรื่องอื่นๆ เช่น วัฒนธรรม สภาพอากาศ เงินทุน หลักสูตร เพื่อนฝูง ญาติมิตร ที่อยู่ ปลีกย่อยลงไป ในการประกอบการตัดสินใจในการไปเรียนยังประเทศใดประเทศหนึ่ง

No comments:

Post a Comment