Monday, August 22, 2011

เรียนดอกเตอร์ที่อังกฤษ เหมือนหรือต่างจากที่อื่นอย่างไร (2)

บทความตอนแรก เรื่องเรียนดอกเตอร์ที่ไหนดี ได้กล่าวถึงในแง่ปริมาณ คราวนี้ก็ยังเป็นเรื่องปริมาณแต่เป็นสัดส่วนของนักเรียนต่างชาติ ถึงแม้เราจะยอมรับว่าการไปศึกษาต่อในต่างประเทศ คือ การไปเรียนรู้สิ่งอื่น นั่นคือวัฒนธรรม ภาษา และสังคม ของประเทศนั้นๆ ด้วย แต่เราก็คงไม่ปฏิเสธว่าการไปเรียนที่ที่มีคนในชาติบ้านเมืองเดียวกันอยู่ด้วย ก็ย่อมอุ่นใจกว่าการไปอยู่ในที่ที่ไม่มีคนจากประเทศของเรา ไปอยู่ด้วยเลย ในหนังสือเล่มที่นำมาเล่าในตอนที่แล้วนั้น บอกอย่างคร่าวๆ ว่ามีคนจากประเทศอื่น อยู่มากน้อยแค่ไหน แต่ก็ไม่ได้ลงรายละเอียดที่ชัดเจนว่ามาจากประเทศไหน หรือแบ่งกลุ่มว่ามาจากเอเชีย หรือที่ใด (เพราะแม้ไม่ใช่ไทย หัวดำ เหมือนกัน เป็นจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ ก็ยังดี แต่คนไทยมักไม่ชอบแขก และคนจีนแบบจี๊น จีนจริงๆ นี่ก็สุดๆ ไว้จะมาเล่าประสบการณ์ทีหลังครับ) จึงอาจไม่ได้ประโยชน์ในการตัดสินใจมากนัก จริงๆ คนไทยบางทีไปเรียนที่ใด ก็มักจะเลือกที่ที่รู้อยู่แล้วว่ามีคนไทยไป หรือมีชุมชนคนไทยอยู่มากพอสมควร มีปัญหาก็ช่วยเหลือกัน และพูดคุยกันได้อุ่นใจกว่าคนต่างชาติ แต่บางคนก็ชอบคบหาสมาคมกับนักเรียนที่นั่น โดยเฉพาะถ้าไปเรียนแต่เด็ก เพราะไม่ได้มีเพื่อนสนิทเป็นคนไทย มีแต่เพื่อนที่นั่น อันนี้ก็อาจจะรู้สึกแปลกด้วยซ้ำเมื่อมาเจอคนไทย อันนี้ก็คงแล้วแต่ ผมคงหมายถึงคนไทยที่จะไปเรียนที่นั่นเมื่อโตแล้วเสียเป็นส่วนใหญ่ (เท่าที่เห็น แต่เนื่องจากออกซ์ฟอร์ดมีคนไทยไม่มาก อาจจะเป็นตัวอย่างไม่ดีนัก คือ นักเรียนที่มาเรียนตั้งแต่ ประถม หรือ มัธยม เลย มักจะมีเพื่อนเป็นฝรั่งเสียมากกว่า แม้แต่เด็กนานาชาติ ก็ยังมีเพื่อนเป็นฝรั่งเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็อาจจะมีเพื่อนสนิทเป็นคนไทยสักหนึ่งหรือสองคน หรือเป็นกลุ่มที่เรียนด้วยกันมา แต่จะไม่เข้ามาร่วมกลุ่มกับเด็กไทยที่มาเรียนเมื่อปริญญาตรีหรือระดับหลังจากนั้นเท่าใดนัก)

จากข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศระบุว่า จำนวนคนไทยในต่างประเทศมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในสหรัฐอเมริกามีคนไทยอยู่ประมาณ 300,000 คน (จำนวนประชากรไทยในสหรัฐฯ Thai American=143,169
จากสถิติทางการ วิกิพีเดียระบุว่าคิดเป็นร้อยละ 0.5 ของประชากรทั่วสหรัฐฯ ร้อยละ 66 ของคนไทย-อเมริกันอาศัยอยู่ในเขตลอสแอนเจลิส)
 ขณะที่คนไทยในยุโรปมีประมาณ 150,000-200,000 คน นอกจากนี้ยังพบคนไทยมีอยู่กระจัดกระจายในเอเชีย เช่น ในญี่ปุ่นราว 22,000 คน และในตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดีอาระเบีย 20,000 คน คูเวต 8,000 คน รวมถึงในโอมาน กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน รวมๆ กันไม่น้อยกว่า 35,800 คน อย่างไรก็ตาม เราคงอยากทราบข้อมูลว่าคนในวัยเดียวกัน หรือ นักเรียนนักศึกษามากกว่า เพราะในประเทศตะวันออกกลางอาจจะเป็นคนไทยที่ไปทำงาน ในกลุ่มใช้แรงงาน หรือในยุโรป จำนวนหนึ่งก็เป็นคนไทยที่ไปตั้งรกราก ย้ายตามสามี หรือทำธุรกิจร้านอาหารซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นก่อนจะเลือกไปเรียนที่ใด เราก็อาจจะหาข้อมูลหรือเข้าไปดูตามเว็บไซต์สมาคมนักเรียนในที่ต่างๆ ถ้ามีการก่อตั้งเป็นสมาคม ก็มักจะมีจำนวนนักเรียนอยู่พอสมควร เป็นข้อมูลคร่าวๆ ไว้ก่อนก็จะเป็นการดี

ผุ้เขียนเองตอนเลือกเรียนก็ไม่ได้คำนึงถึงจุดนี้ และด้วยเมืองออกซ์ฟอร์ดมีนักเรียนไทยไม่มาก (ไม่ถึงหนึ่งร้อยคน) สมาคมนักเรียนจึงมีขนาดเล็ก สมัยนั้นยังเพิ่งเริ่มมีเฟซบุค ยังไม่ได้มีเพจให้คนมาสร้างเพื่อให้ข้อมูลฟรีๆ เว็บของสมาคมนักเรียนหาเจอยากและไม่มีข้อมูลมากนัก มาได้รู้จักเพราะน้ำใจนักเรียนไทยด้วยกัน ที่มาเห็นชื่อที่คอลเลจ ก็พาเดินแนะนำ หรือ เพื่อนที่รู้จักกันในเว็บบอร์ดพันทิพย์ ก็เลยทำให้ได้เจอคนไทย ที่มาเรียน หลังจากที่ไม่เจอคนไทยเลย มาสามเดือน เพราะไปช่วงปิดเทอมพอดี ไม่มีกิจกรรมของนักเรียน และส่วนใหญ่ นักเรียนก็กลับบ้านกัน พอจอคนไทยด้วยกัน ก็อุ่นใจ และรู้สึกดีมากๆ จึงคิดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ควรจะต้องคิดถึงไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว ในการตัดสินใจจะไปเรียนที่ใด

อย่างไรก็ดีสัดส่วนตัวเลขนักเรียนต่างชาตินั้นก็มีความสำคัญ เพราะถ้ายิ่งมาก ก็แสดงว่าเขามีประสบการณ์ในการดูแลนักเรียนจากต่างประเทศมาก เข้าใจปัญหา และสามารถช่วยเหลือเราได้ นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญเมื่อคนคุ้นเคยกับคนต่างชาติ เราก็จะปลอดภัยและสะดวกมากขึ้น กว่าการเป็นคนต่างถิ่น ต่างผิวสี ต่างภาษา ไปอยู่ในที่ที่ไม่มีคนชาติเดียวกันอยู่เลย (ผู้เขียน เคยต้องย้ายบ้านออกไปอยู่นอกตัวเมืองออกซ์ฟอร์ด อยู่เดือนหนึ่ง ซึ่งเมืองนั้นเป็นเมืองเล็กมากๆ มีคนไม่กี่พันแต่เป็นฝรั่งอังกฤษกันหมด เดินเข้าออกแต่ละที รู้สึกเหมือนตัวประหลาดมาก ไม่เหมือนออกซ์ฟอร์ด ซึ่งเป็นเมืองการศึกษา และมีนักเรียนจากหลากหลายเชื้อชาติมาอยู่ จึงไม่เป็นเรื่องผิดปกติ เดินไปก็ได้ยินภาษาแตกต่างกันไป จนบางทีไม่ได้ยินเสียงคนสนทนาเป็นภาษาอังกฤษเลยเสียด้วยซ้ำ)
ดังนั้นก็ขอนำตัวเลขเหล่านั้นมาแสดงไว้ ณ ที่นี้ด้วย

จำนวนนักเรียนต่างชาติ
เดนมาร์ก 1:20 (mostly from Scandinavian countries)
ฟินแลนด์ 1580
เนเธอร์แลนด์ No data
ฝรั่งเศส 25% and higher in 2007
เยอรมนี Not known but 10% were awarded for other countries
โปแลนด์ 1.5%
อังกฤษ 45440 (13800 from EU countries)
ออสเตรเลีย 16.7%
แคนาดา 21.1%
สหรัฐอเมริกา 14%
บราซิล 1.5%
จีน ไม่ทราบตัวเลข แต่ผู้เขียนบทคามนี้คาดว่าน้อยเนื่องจากข้อจำกัดเรื่องภาษา ซึ่งผมไม่เห็นด้วย เพราะมีชาวจีนโพ้นทะเลจำนวนมากที่นิยมส่งลูกหลานกลับไปเรียนยังประเทศจีน (แต่อาจจะไม่ถึงระดับปริญญาเอกอันนี้ไม่แน่ใจ) และยังมีชาวญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ที่มีภาษาและวัฒนธรรมใกล้เคียง รวมทั้งไทย เวียดนาม สิงคโปร์อีกด้วย
ญี่ปุ่น ร้อยละสิบแปด
อินเดีย น้อยมากราวร้อยละหนึ่ง
เม็กซิโก น้อยมากประมาณไม่ถึงร้อยละหนึ่ง
แอฟริกาใต้ ประมาณหนึ่งในสี่
ไทย มีนักเรียนต่างชาติ ร้อยละหนึ่ง เนื่องจากข้อจำกัดทางภาษา แต่ประเทศของเราอยู่แล้วนี่ครับ คงจะดีสำหรับคนไทย ถ้าดูในแง่นี้

ถ้าดูในแง่นี้แล้ว จะเห็นว่า อังกฤษเป็นประเทศที่มีชาวต่างชาติเข้ามาเรียนในระดับปริญญาเอกมากที่สุดตามสัดส่วน คือเกือบครึ่งหนึ่ง นั่นคือถ้าเอาจำนวนนักเรียนทั้งหมดระดับปริญญาเอก อังกฤษจะเป็นหนึ่งในแปดเท่าของอเมริกา ถ้านับขาจบ จะมีประมาณหนึ่งในสี่ของอเมริกา แต่ถ้านับนักเรียนต่างชาติแล้วจะพบว่า อังกฤษนั้นมีนักเรียนต่างชาติที่ไม่ใช่อียูหนึ่งในสามของนักเรียนต่างชาติของอเมริกา(ไม่ได้ระบุว่ามาจากประเทศใด) เลยทีเดียว


สำหรับข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน พบว่ามีนักเรียนไทยในอังกฤษทุกระดับชั้นประมาณสี่พันสามร้อยคน (จากคนไทยทั้งสิ้นราวสามหมื่นหกพันคน)


ส่วนนักเรียนไทยในอเมริกามีประมาณเก้าพันคน (เกินครึ่งหนึ่งเป็นปริญญาโทหรือเอกหรือหลังปริญญาตรี) โดยอยู่กันมากที่สุดในแคลิฟอร์เนีย เทกซัส แมสซาชูเซตส์ นิวยอร์ก และอิลลินอยส์ (แต่มีคนไทย หลายแสนคนในปัจจุบัน) จำนวนนักเรียนไทยในญี่ปุ่นมีประมาณสองพันห้าร้อยคน

อังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น  ด้วยเหตุผลใดก็ตาม จึงยังคงเป็นเป้าหมายในการไปศึกษาต่อของคนไทยเป็นอันดับแรกๆ ทั้งในเรื่องความหลากหลายของสาขาวิชาที่จะไปเรียน และจำนวนคนไทย ที่ไปอยู่กันมาก หรือมีเพื่อนหรือคนรู้จักไปอยู่ก็ยิ่งเป็นปัจจัยให้หลายคนเลือกที่จะไปเรียนประเทศเหล่านี้ ผู้เขียนสนับสนุนในเรื่องแรกคือเลือกหัวข้อหรือสาขาที่ตนสนใจจริง แต่เรื่องหลังแม้ไม่ใช่เรื่องหลัก แต่ก็เป็นเรื่องที่ช่วยในการตัดสินใจได้พอสมควร (รุ่นน้องคนหนึ่งได้ทุน แต่ต้องไปเรียนประเทศสวีเดน ก็ยังกลุ้มเรื่องนี้อยู่ไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว


เขียนมาถึงตรงนี้เปิดไปดูพบข้อมูลกระทรวงการต่างประเทศ บอกว่ามี่นักเรียนไทยในออสเตรเลีย ราวสองหมื่นคน แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นระดับใดบ้าง และมีคนไทยถึงราวสี่หมื่นคน ถ้าเป็นจริง ก็แสดงว่านักเรียนไทยมีอยู่ในออสเตรเลียน่าจะมากที่สุดแล้วนะครับ แต่สำหรับการเรียนในระดับปริญญาเอก ผมก็ยังเชื่อว่าอเมริกา น่าจะเป็นเป้าหมายเบอร์หนึ่ง ส่วนอังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา น่าจะใกล้เคียงกัน (ไม่มีหลักฐานยืนยัน)

สรปุแล้วข้อมูลที่สองเรื่องสัดส่วนนักเรียนต่างชาติ จำนวนนักเรียนไทย ในที่ต่างๆ ก็อาจจะช่วยในการตัดสินใจได้บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ

เรียนดอกเตอร์ที่อังกฤษ เหมือนหรือต่างจากที่อื่นอย่างไร

ได้ลองเล่าคร่าวๆ เกี่ยวกับปัจจัยในการเลือกที่เรียน และลองพูดคร่าวๆ เกี่ยวกับความแตกต่างของการเรียนปริญญาเอกในอังกฤษและอเมริกา แต่เพื่อให้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่ชัดเจน (หรืออาจทำให้คลุมเครือมากขึ้น) เลยลองเอาข้อมูลจากหนังสือ The Doctorate Worldwide ซึ่งมี Stuart Powell and Howard Green เป็นบรรณาธิการ (ISBN: 9780335220205 Division: Open University Press Pub Date: JUN-07 Pages: 224)

ซึ่งเป็นงานวิจัยเชิงสำรวจการเรียนปริญญาเอกในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และครอบคลุมถึงบางประเทศที่ผู้วิจัยเรียกว่ากลุ่มประเทศที่มีศักยภาพ ได้แก่ บราซิล จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เม็กซิโก  แอฟริกาใต้ และประเทศไทยด้วย

ข้อควรระวัง ในการนำข้อมูลนี้ไปประกอบการตัดสินใจ เพราะการเรียนปริญญาเอกในแต่ละสาขา มี่ความแตกต่ากกันมาก การนำข้อมูลโดยภาพรวมมาตัดสินในการเลือกเรียนในประเทศต่างๆ นั้น คงทำได้ยาก ในขณะที่ผู้เขียนเชื่อว่า การเรียนปริญญาเอกในสาขาใดสาขาหนึ่งน่าจะมีความใกล้เคียง และเหมาะสม และควรนำมาพิจารณาเปรียบเทียบกันโดยตรงมากกว่า ซึ่งจะมาเล่าในครั้งต่อไป หนังสือเล่มนี้คงทำให้เห็นความต่างในภาพรวมที่ชัดเจน

 ในแง่ปริมาณ คงต้องยกให้ประเทศอเมริกา ซึ่งผลิตนักวิจัยในระดับปริญญาเอกถึงปีละกว่าสี่หมื่นคน (ประชากรราวร้อยละหนึ่ง จบปริญญาเอก)  ในขณะที่ยโรปทั้งทวีป ผลิตได้ราว เจ็ดหมื่นคน ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นอังกฤษและเยอรมนีรวมกัน ในขณะที่ ยักษ์ใหญ่เอเชียได้ แก่ จีน อินเดีย ญีปุ่น เคอร์จิกีสถาน เกาหลีใต้ และไต้หวัน ผลิตได้มากกว่าอเมริกาเพียงเล็กน้อย เมื่อผลิตมาก ก็มีความหลากหลาย และมีทางเลือกมากมาย มีแทบทุกสาขาวิชาและความสนใจที่จะนึกได้ ดังนั้นส่วนหนึ่งที่คนตัดสินใจไปเรียนที่อเมริกา ก็ด้วยเหตุนี้ ในขณะที่ประเทศไทย มีคนจบการศึกษาปริญญาเอกราวปีละหนึ่งพันราย และบางสาขาและความสนใจ ก็ไม่มีที่ใดเปิดสอนหรือมีโอกาสให้ทำวิจัย จึงไม่แปลกที่ผู้คนที่ต้องการการศึกษาที่ดีต่างพากัน มุ่งหน้าไปศึกษายังสหรัฐอเมริกา

สำหรับตัวเลขจำนวนนักเรียนในระดับปริญญาเอกในแต่ละประเทศมีดังนี้

ฟินแลนด์ 22105 (postgraduate level ทั้งหมดเนื่องจากบางคนอาจเลือกอนุมัติบัตรแทนปริญญาเอก)
เดนมาร์ก 4815
ฝรั่งเศส 70000 โดยประมาณ
เยอรมนี ไม่ทราบจำนวนเพราะศาสตราจารย์สามารถรับนักเรียนโดยไม่ลงทะเบียนในระบบ แต่มีคนจบปีละประมาณ 23000 คน
เนเธอร์แลนด์ 7443 คน
โปแลนด์ 33040 คน
สหราชอาณาจักร 111990 คน
ออสเตรเลีย 37511 คน
แคนาดา 32006 คน
สหรัฐอเมริกา 837640 คน
บราซิล 38948 คน
จีน 165600 คน
อินเดีย 65491 คน
ญี่ปุ่น 74907 คน
เม็กซิโก 10825 คน
แอฟริกาใต้ 8112 คน
ไทย 10516 คน

ดังนั้นทางเลือกที่สองของคนไทยที่จะสนใจจะเรียนระดับสูง ก็ไม่แปลกที่จะเป็นอังกฤษ ซึ่งมีนักเรียนอยู่ถึงหนึ่งแสนกว่าคน ในขณะที่จีน และญี่ปุ่น อาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องของภาษา ทำให้ไม่ได้รับความนิยมนัก แต่ในปัจจุบัน ข้อจำกัดนี้ ก็ไม่ได้เป็นเรื่องจำกัดอีก เมื่อเรานึกถึงคุณภาพงานวิจัยซึ่งญี่ปุ่น ไม่น้อยหน้ากว่าใคร และจีนก็ก้าวหน้าขึ้นมาทัดเทียมหรืออาจจะแซงหน้าโลกตะวันตกในไม่ช้า มีคนที่ผู้เขียนรู้จักหลายคนก็ไปศึกษาปริญญาเอกในประเทศญี่ปุ่น แต่อาจจะมีปัจจัยอื่นๆ อีก เช่นเรื่องทุน ความชอบประเทศเป็นการส่วนตัว แต่ประเด็นสำคัญที่สุดคือต้นทุนทางภาษาซึ่งคงจะมาหาเอาแค่ตอนจะไปเรียนไม่ได้ ผมจึงย้ำอีกสักครั้งหนึ่ง ว่าภาษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุด และยิ่งมีต้นทุนมาก ก็มีโอกาส และช่องทางมากขึ้น ถ้าเรารู้แค่ภาษาอังกฤษ แม้จะเป็นภาษาที่ใช้กันเป็นทางการมากที่สุด แต่การไปเลือกกเรียนในประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาแรก การไม่รู้ภาษาอื่น คงทำให้อยู่ได้ด้วยความยากลำบาก

Monday, August 15, 2011

ปัจจัยในการเลือกที่เรียน เรียนในประเทศ หรือ เรียนต่างประเทศ และเรียนประเทศไหนดี

เมื่อเราตัดสินใจได้แล้วว่าจะเรียนปริญญาโทหรือปริญญาเอก หรือคิดได้ว่าจะเรียน ก็คงต้องคำนึงถึงเรื่องต่อไป คือจะเรียนที่ไหน (ความจริงเรื่องที่เรียน และ การตัดสินใจจะเรียน หรือเรื่องต่อไป จะเลือกเรียนอะไร นั้นเป็นคำถามรวมๆ ไม่ได้เป็นลำดับอย่างที่มาเล่าให้ฟังที่นี่ แต่เพื่อความเข้าใจได้ง่าย ว่าอะไรเป็นปัจจัยฝนแต่ละข้อจึงแยกกล่าวไว้)

สำหรับที่เรียน ก็แบ่งกว้างๆ เป็นเรียนในประเทศ และเรียนต่างประเทศ สำหรับในประเทศ อาจจะแบ่งเป็นเรียนใกล้บ้านหรือต้องไปเรียนในจังหวัดอื่นที่ตนเองไม่ได้อยู่มาก่อน เรื่องโลเคชั่นหรือสถานที่ อาจจะไม่ใช่ปัญหานัก ถ้าได้เรียนในระดับก่อนหน้านี้ในที่นั้นอยู่แล้ว เช่นเด็กที่เรียน เอ เลเวล อยู่ที่อังกฤษ หรือ ไฮสกูลอยู่ที่อเมริกา อยู่แล้ว ก็คงเข้าใจ สภาพ และสถานที่นั้นอยู่แล้ว และคงบอกได้ว่า ชอบหรือ ไม่ชอบ หรือ ต้องการเปลี่ยนบรรยากาศ อันนี้ ก็คงต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มถึงที่ที่เราจะไปเรียน เช่นเดียวกับในประเทศ บางคนจากบ้านไปเรียนที่อื่น เช่น จากต่างจังหวัดไปกรุงเทพ บางคนจากกรุงเทพไปเรียนต่างจังหวัด แต่ถ้าจะเปลี่ยนที่ ก็ควรจะศึกษาข้อมูลเช่นกัน แต่การปรับตัวคงไม่มากนักในการเรียนในประเทศ เมื่อเทียบกับความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในการไปเรียนต่างประเทศ หรือต่างประเทศ

แต่เรื่องแรกที่ควรจะตัดสินใจ ก็ควรจะเกี่ยวกับเรื่องที่จะไปเรียนหรือไปทำวิจัย ว่าทำไมถึงเรียนในประเทศไม่ได้ (อันนี้ก็ต้องไปแน่ๆ) หรือเรียนต่างประเทศ แล้วได้ประโยชน์กับเรามากกว่าเรียนในประเทศ (เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่าย และสิ่งต่างๆ ที่ต้องปรับตัวเมื่อจะไปเรียน) หรือ แค่ไปเรียนต่างประเทศ เพราะต้องการประสบการณ์ ด้านอื่น ติดตามคู่ของตน เพื่อน หรือ พ่อแม่ต้องย้ายสถานที่ (เช่นลูกทูตหลานเธอ หรือ พวกทำบริษัทข้ามชาติ) อันนี้ก็แล้วแต่บริบทของใครของมัน

แต่สำหรับผม แล้ว การไปเรียนต่างประเทศ ปัจจัยสำคัญที่สุด ก็คือ การไปเรียนสาขาที่ไม่สามารถศึกษาได้ในเมืองไทย หรือ การศึกษาในสาขานั้นๆ ในเมืองไทย มีแต่คุณภาพในการศึกษา โอกาส หรือ ทรัพยากร อาจจะยังไม่ดีเท่าในประเทศอื่นนั้น ส่วนผลพลอยได้ ก็คงเป็นประสบการณ์ ในต่างแดน เปิดโลกทัศน์ และอาจจะเป็นเรื่องของภาษา วัฒนธรรม ได้ใช้เวลาในที่อื่น ที่อยู่ได้ยาก หรือบางคนอาจจะหาโอกาสการทำงานในประเทศนั้นๆ

สำหรับประเทศที่เลือกไปเรียน ข้อจำกัดสำคัญอันหนึ่งคงเป็นเรื่องของภาษา ถ้าเรามีแต่ภาษาอังกฤษ ก็คงไปได้เฉพาะประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ เป็นหลัก หรือในหลักสูตรนั้นสอนเป็นภาษาอังกฤษ (แต่ต้องไม่ลืมว่า ในชีวิตประจำวันนั้น เราอาจจะไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้เหมือนในห้องเรียน) แต่ถ้าเรามีต้นทุนภาษามากๆ เราก็มีโอกาสมาก เช่น ภาษาญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมัน รัสเซีย สเปน อิตาลี จีน อาหรับ ประเทศ ในยุโรป จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น อังกฤษ อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ เหล่านี้ก็เป็นประเทศที่คนไทยเลือกไปเรียนต่อกันมาก โดยเฉพาะ อเมริกา และอังกฤษ คงเป็นประเทศยอดนิยม ที่คนไทยเลือกไปเรียนต่อกันมากที่สุด

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการเลือกประเทศที่ไปเรียน ก็คือระบบของการเรียน และระยะเวลาในการเรียนที่แตกต่างกัน ประเทศอังกฤษ และยุโรป มีข้อได้เปรียบอเมริกาในด้านระยะเวลาเรียน ซึ่ง ป โท ในอังกฤษ และยุโรปใช้เวลาเพียงหนึ่งถึงสองปี ในขณะที่ปริญญาเอก ก็ใช้เวลาเพียงสามถึงสี่ปี แต่ ของอเมริกา โดยทั่วไปจะมากกว่ายุโรป หนึ่งถึงสองปีในแต่ละระดับ เพราะมีความจำเป็นต้องเรียนคอร์สเวิร์ค หรือ วิชาที่เก็บเครดิตก่อน จะเข้าสู่การทำวิจัยจริงจัง ในขณะที่ของอังกฤษมักจะเข้าสู่การทำวิจัยโดยตรงเลย โดยฌฉพาะระดับปริญญาเอก แบบเดิม ทำให้อาจไม่มีความกว้างเท่าระบบอเมริกัน และค่อนข้างโฟกัสหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมากเกินไป ในปัจจุบันระบบอังกฤษ ก็มีการปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะในสายวิทยาศาสตร์ จึงมีหลักสูตรปริญญาเอกแบบสี่ปี ซึ่งให้ปีแรกได้มีโอกาส สำรวจความต้องการหรือความสนใจ และเรียนรู้วิทยาการวิจัย และองค์ความรู้ก่อนจะเลือกทำวิจัยลงลึกในปีที่สอง ถัดไป จนจบ ในขณะที่หลักสูตรอเมริกันก็มีคนกล่าวว่าเรียนกว้างมากเกินไป จนเกินความจำเป็นในปีแรกๆ ทำให้ไม่สามารถโฟกัสงาน ได้ ก็นับเป็นสิ่งที่แตกต่างกันไป สำหรับข้อมูลความแตกต่างของระบบในแต่ละประเทศ นั้น เราก็ควรศึกษาเพิ่มเติมให้เห็นเสียก่อนที่จะตัดสินใจเลือกประเทศ

สำหรับเหตุผลในด้านระบบและระยะเวลา รวมทั้งภาษา (จำกัดเฉพาะอังกฤษ) ทำให้ผู้เขียนเลือกเรียนที่ประเทศอังกฤษ เพราะใช้ระยะเวลาที่สั้นกว่า (เนื่องจากผู้เขียนมีความตั้งใจจะไปเรียนสาขาเฉพาะทางที่อเมริกาต่อ) และเลือกทำสิ่งที่สนใจได้ทันที ไม่ต้องใช้เวลาไปกับสิ่งอื่นๆ ที่อาจจะไม่สำคัญ (แต่ความจริงข้อนี้ ก็ทำให้อาจารย์หลายคนคัดค้านการเรียนที่อังกฤษ ซึ่งก็ต้องชั่งน้ำหนักกันไปในแต่ละคน)

วันนี้คงจะเล่าภาพใหญ่ของปัจจัยในการเลือกดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ทีนี้ก็ยังมีเรื่องอื่นๆ เช่น วัฒนธรรม สภาพอากาศ เงินทุน หลักสูตร เพื่อนฝูง ญาติมิตร ที่อยู่ ปลีกย่อยลงไป ในการประกอบการตัดสินใจในการไปเรียนยังประเทศใดประเทศหนึ่ง

Saturday, August 13, 2011

ทำไมต้องเรียนโท เรียนเอก ให้มันยุ่งยากเสียเวลา

ทัศนคติ และความรู้ ความเชื่อ เกี่ยวกับการเรียนต่อในระดับปริญญาโท หรือ ปริญญาเอก นั้นมีแตกต่างกันออกไป หลายคนพอฝ่าฟันเรียนจบปริญญาตรีมาแล้ว ก็ประกาศตนเป็นอริกับการเรียนในระบบ หันหลังให้กับมหาวิทยาลัยตลอดกาล ส่วนคนที่รักเรียน จนไม่เป็นอันทำอะไร ก็คงตั้งหน้าตั้งตาหาที่เรียนต่อ โท เอก หลังปริญญาเอก และหลังหลังปริญญาเอกกันให้วุ่น โดยไม่รู้แน่ชัดว่าเรียนไปเพื่ออะไร บางคนว่าทำงานซักพักก่อน แล้วค่อยเรียน ไปหาประสบการณ์จริงบ้าง แต่แท้จริงแล้ว เรียน โท เรียนเอก คืออะไร เรียนไปทำไม ได้ประโยชน์อะไร

พิธีเอนซีเนีย เฉลิมฉลองและประสาทปริญญา
ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาต่างๆ ณ
มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศสหราชอาณาจักร ปี  2554
ที่แน่ๆ ก็คือการเรียน โท เรียน เอกนั้นต้องใช้เวลา สติปัญญา และเงินทอง พอสมควร และยังมีปัจจัยอื่นๆให้ปวดหัวอีก หลังตัดสินใจได้ว่าจะเรียน ก็ต้องหาที่เรียน จะเรียนในไทย หรือเรียนต่างประเทศ จะเรียนอะไร จะเลือกอย่างไร ซึ่งตรงนี้เราจะค่อยๆ แกะรอยกันไป

ผมไปอ่านเจอในเว็บไซต์อันหนึ่ง มีรองศาสตราจารย์คนหนึ่งคาดว่าก็คงจบปริญญาโท และเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และอ้างเป็นผู้เชี่ยวชาญในการตอบปัญหาของเว็บไซต์นั้น กลับเขียนทัศนคติต่อการเรียนปริญญาเอกได้น่าอนาถนักไม่สมกับคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย โดยเขียนแต่ทัศนคติเชิงลบ ที่ไม่เป็นจริง ว่า ไม่มีประโยชน์อะไรนอกจากอยากเป็นอาจารย์ จะไปทำงาน ก็เกินจำเป็น โดยไม่ได้ดูบริบท ว่าคนนั้นจะเรียนอะไร มีพื้นฐานอะไร และอาชีพ หรือความต้องการคุณวุฒิสาขาต่างๆ นั้นแตกต่างกันไป อย่างไร นับเป็นเรื่องน่าตกใจที่คนไทยได้รับข้อมูล ข่าวสาร ความคิดเห็นแบบไร้ความรับผิดชอบ เช่นนี้ และอาจทำให้คนอื่นเสียโอกาส อย่างมาก

หลายเหตุผล ของคนที่เลือกเรียนต่อในระดับปริญญาโท และเอก หลังจบปริญญาตรีแล้วก็ได้แก่

เพื่อตอบสนองความท้าทายทางสติปัญญา ซึ่งดูชัดเจน ว่าการเรียนระดับนี้ จะต้องใช้เวลาตรึกตรอง เตรียมงาน วิเคราะห์งาน เพื่ออภิปราย โต้แย้ง สนับสนุนงานของตน ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างองค์ความรู้ ได้ทำงานร่วมกับ นักวิจัย อาจารย์ที่เชี่ยวชาญ และได้ทำงานในเรื่องที่เป็นจุดสนใจในสาขาวิชานั้น อย่างน้อยแม้จะไม่ใช่เหตุสำคัญที่สุดในการเลือกเรียนของท่าน แต่อย่างน้อย ก็ควรจะมีความตื่นเต้น ในทางวิชาการนี้ไม่มากก็น้อย จึงจะเป็นปัจจัยผลักดันให้เราสามารถเรียนและประสบผลสำเร็จในการเรียน อย่างไรก็ตาม บางคนเห็นว่าการทำงานในสาขาที่ตนเรียนมา หรือ ต่างไปก็ตาม ก็เป็นความท้าทายไม่แพ้กัน ได้ลองประสบการณ์จริง ใช้จริงไปเลย คือเน้นเชิงปฏิบัติมากกว่า การเรียนระดับหลังปริญญานี้ก็คงไม่เหมาะกับ คนที่คิดเช่นนั้น

สิ่งที่คนทั่วไปที่เลือกเรียน ป โท ป เอกนั้น อันที่น่าจะเป็นแรงจูงใจบวกสำคัญที่สุด ก็คงจะเป็นโอกาสในการประกอบอาชีพ บางสาขา การเรียนในระดับ ป โท หรือ เอก น่าจะตรงกับความต้องการของตลาด หรือเป็นสิ่งจำเป็นมาก อาจจะเป็นงานอาจารย์ ซึ่งต้องมีการรับรองว่าได้ฝึกอบรมเรียนการทำวิจัยมาแล้ว ป เอก จึงมักเป็นคุณวุฒิที่กำหนดไว้ หรือ ผู้พิพากษา ที่ต้องเรียน เนติบัณฑิต เป็นสิ่งกำหนดตายตัว ว่าต้องมี นักวิทยาศาสตร์ ในห้องทดลองต่างๆ ซึ่งมักจะกำหนดคุณวุฒิ โท หรือ เอก ถ้าต้องการเป็นหัวหน้างาน กลุ่มงานหรือองค์กร หรืองานราชการต่างๆ ที่มักกำหนดวุฒิเอาไว้ชัดเจน วิชาชีพแพทย์ ที่ต้องการเรียนต่อเฉพาะทาง (ซึ่งอาจไม่เหมือนกับ ป โท ป เอก ทั่วไปนัก) ก็ต้องเรียนต่อ เพื่ออบรมความถนัดต่อจากนั้น ตรงนี้นี่แหละที่ทำให้หลายคนหันมาเรียนต่อ ป โท  ป เอกกัน อย่างน้อยก็ด้วยหวังว่าจะมีประโยชน์ต่อวิชาชีพการงานในอนาคต ฐานเงินเดือน โอกาสก้าวหน้า หรือ งานที่ตรงกับความสามารถเฉพาะ แต่ก็มีหลายงาน ที่การเรียนระดับนี้ถูกกล่าว ว่ามีวุฒิเกินจำเป็น จบ เอก จบ โท แคบๆ ทำให้ทำงานไม่ได้ หรือ เข้ากับคนอื่นไม่ได้ พูดไม่รู้เรื่อง อันนี้ก็เป็นทัศนคติ เชิงลบต่อการเรียนโท เอก ซึ่งก็ไม่ได้จริงเสมอไป สรุปว่า ถ้าการเรียนนั้นจะทำให้ได้ความรู้ ความสามารถ และคุณวุฒิที่เหมาะสมกับการงานที่เราสนใจ ให้โอกาสกับตัวเองได้มากกว่า ปริญญาตรี ก็สมควรที่จะพิจารณาเรียน โดยเฉพาะบางสาขาการงานที่ไม่มีทางเลือก เช่น ทางกฎหมาย หรือ ทางแพทย์ หรือ อาจารย์ ก็คงต้องเรียน แต่อย่างที่กล่าวแล้วว่า ควรจะต้องมีใจรักที่จะเรียน เพื่อตอบสนองความต้องการทางปัญญา และบุคลิกของตัวเองที่ชอบเรียน คิดว่าจะรับผิดชอบการเรียนด้วยตนเองในระดับหนึง (ซึ่งจำเป็นมากในการศึกษาระดับนี้)

คนที่เลือกเรียน เพราะไม่รู้จะทำอะไร เลือกเพราะพี่น้องก็เรียนกัน พ่อแม่ก็บังคับให้เรียน เพื่อนๆ ก็เรียน อยากเป็นนักเรียนไปเรื่อยๆ รอเวลาหางานไปสักปีสองปี แต่ไม่ได้สนใจตัววิชา ไม่มีแรงกระตุ้นจูงใจในการเรียน ทางวิชาการ หรืออาชีพที่เลือกก็ไม่ได้จำเป็นหรืออาจจะเกินจำเป็นที่จะเรียน เหล่านี้ คงไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ และยากที่ประสบความสำเร็จในการเรียน (อย่าได้เรียนโท เมืองนอกเพื่อหนีปัญหาประชดรักแบบในละครกันเลยนะครับ)

อย่าเรียนเพราะมันเท่ห์ ดูดี เป็นมหาบัณฑิต จบโท หรือเป็นดอกเตอร์ จบเอก เลยนะครับ เรียนแล้วได้ใช้ประโยชน์ เรียนแล้วรู้ขีดความสามารถของตน เรียนแล้วตอบแทนสังคม กันนะครับ
สำหรับผมแล้ว ผมเลือกเรียนต่อปริญญาเอก แม้ผมจะเป็นหมอ ซึ่งทั่วไป อาจจะคุ้นเคยกับการเรียนต่อเฉพาะทาง ซึ่งเป็นการศึกษาหลังปริญญาแบบวิชาชีพ ไปเป็นหมอตา หมอหูคอ หมอสู หมอศัลย์ หมออายุรกรรม หรือ เฉพาะลงไปอีก เช่นหัวใจ ตับ ไต สมอง ก็ว่ากันไป ผมก็เรียนเป็นหมอเฉพาะทางด้านอายุรกรรมแล้ว และกำลังสมัครเรียนเฉพาะทางด้านพันธุศาสตร์ ต่อ แต่ในระหว่างนั้น ผมซึ่งเลือกทำงานเป็นอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ จึงมีความต้องการความรู้ด้านการวิจัย ขั้นสูง และผมก็ชอบชีวตการเป็นนักเรียน ชอบการคิด ชอบการทำงานด้วยตนเอง และต้องการเรียนรู้ จึงเลือกที่จะเรียนต่อในระดับปริญญาเอก ในสาขาพันธุศาสตร์ ส่วนเรื่องราวจะเป็นอย่างไร ทำไมต้องอังกฤษ เราก็จะมาดูกันต่อไป ครับ หวังว่าคนอ่าน คงได้ไอเดีย บ้าง ว่าเราเหมาะจะเรียน โท เรียน เอกหรือไม่อย่างไรนะครับ

Friday, August 5, 2011

ทำไมต้องเรียนปริญญาเอก และทำไมต้องอังกฤษ

ประเทศอังกฤษ ประเทศที่คนไทยจำนวนมากใฝ่ฝันจะได้มาเรียน ทำงาน หรือท่องเที่ยว การเรียนในระดับปริญญาเอก การเรียนระดับสูงสุดเท่าที่จะมีปริญญาให้ได้ เป็นอีกความใฝ่ฝันของคนอีกไม่น้อยที่อยากจะฝ่าฟันให้สำเร็จ จะเพื่อความภาคภูมิใจ ความจำเป็นในหน้าที่การงานหรือเหตุผลอื่นอีกมากมาย ผมมีโอกาสได้มาศึกษาระดับปริญญาเอกที่ประเทศสหราชอาณาจักร ในขณะนี้ยังกำลังศึกษาอยู่ แต่ก็อยากจะบันทึกและร้อยเรียงเรื่องราว การฝ่าฟัน ความสุข สนุก ทุกข์ การปรับตัว เหตุผล ที่มาที่ไป ของการได้มาเรียนในประเทศแห่งนี้ ไว้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง และผู้อื่นตามสมควร

Matriculation, Wolfson College, University of Oxford


















 สำหรับคนที่สนใจเรื่องราวการเรียนแพทย์ในเมืองไทย ตามได้ที่ http://medicalthailand.blogspot.com/
เรื่องการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางในเมืองไทย อ่านได้ที่ http://residencymedicinethailand.blogspot.com/