Saturday, August 13, 2011

ทำไมต้องเรียนโท เรียนเอก ให้มันยุ่งยากเสียเวลา

ทัศนคติ และความรู้ ความเชื่อ เกี่ยวกับการเรียนต่อในระดับปริญญาโท หรือ ปริญญาเอก นั้นมีแตกต่างกันออกไป หลายคนพอฝ่าฟันเรียนจบปริญญาตรีมาแล้ว ก็ประกาศตนเป็นอริกับการเรียนในระบบ หันหลังให้กับมหาวิทยาลัยตลอดกาล ส่วนคนที่รักเรียน จนไม่เป็นอันทำอะไร ก็คงตั้งหน้าตั้งตาหาที่เรียนต่อ โท เอก หลังปริญญาเอก และหลังหลังปริญญาเอกกันให้วุ่น โดยไม่รู้แน่ชัดว่าเรียนไปเพื่ออะไร บางคนว่าทำงานซักพักก่อน แล้วค่อยเรียน ไปหาประสบการณ์จริงบ้าง แต่แท้จริงแล้ว เรียน โท เรียนเอก คืออะไร เรียนไปทำไม ได้ประโยชน์อะไร

พิธีเอนซีเนีย เฉลิมฉลองและประสาทปริญญา
ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาต่างๆ ณ
มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศสหราชอาณาจักร ปี  2554
ที่แน่ๆ ก็คือการเรียน โท เรียน เอกนั้นต้องใช้เวลา สติปัญญา และเงินทอง พอสมควร และยังมีปัจจัยอื่นๆให้ปวดหัวอีก หลังตัดสินใจได้ว่าจะเรียน ก็ต้องหาที่เรียน จะเรียนในไทย หรือเรียนต่างประเทศ จะเรียนอะไร จะเลือกอย่างไร ซึ่งตรงนี้เราจะค่อยๆ แกะรอยกันไป

ผมไปอ่านเจอในเว็บไซต์อันหนึ่ง มีรองศาสตราจารย์คนหนึ่งคาดว่าก็คงจบปริญญาโท และเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และอ้างเป็นผู้เชี่ยวชาญในการตอบปัญหาของเว็บไซต์นั้น กลับเขียนทัศนคติต่อการเรียนปริญญาเอกได้น่าอนาถนักไม่สมกับคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย โดยเขียนแต่ทัศนคติเชิงลบ ที่ไม่เป็นจริง ว่า ไม่มีประโยชน์อะไรนอกจากอยากเป็นอาจารย์ จะไปทำงาน ก็เกินจำเป็น โดยไม่ได้ดูบริบท ว่าคนนั้นจะเรียนอะไร มีพื้นฐานอะไร และอาชีพ หรือความต้องการคุณวุฒิสาขาต่างๆ นั้นแตกต่างกันไป อย่างไร นับเป็นเรื่องน่าตกใจที่คนไทยได้รับข้อมูล ข่าวสาร ความคิดเห็นแบบไร้ความรับผิดชอบ เช่นนี้ และอาจทำให้คนอื่นเสียโอกาส อย่างมาก

หลายเหตุผล ของคนที่เลือกเรียนต่อในระดับปริญญาโท และเอก หลังจบปริญญาตรีแล้วก็ได้แก่

เพื่อตอบสนองความท้าทายทางสติปัญญา ซึ่งดูชัดเจน ว่าการเรียนระดับนี้ จะต้องใช้เวลาตรึกตรอง เตรียมงาน วิเคราะห์งาน เพื่ออภิปราย โต้แย้ง สนับสนุนงานของตน ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างองค์ความรู้ ได้ทำงานร่วมกับ นักวิจัย อาจารย์ที่เชี่ยวชาญ และได้ทำงานในเรื่องที่เป็นจุดสนใจในสาขาวิชานั้น อย่างน้อยแม้จะไม่ใช่เหตุสำคัญที่สุดในการเลือกเรียนของท่าน แต่อย่างน้อย ก็ควรจะมีความตื่นเต้น ในทางวิชาการนี้ไม่มากก็น้อย จึงจะเป็นปัจจัยผลักดันให้เราสามารถเรียนและประสบผลสำเร็จในการเรียน อย่างไรก็ตาม บางคนเห็นว่าการทำงานในสาขาที่ตนเรียนมา หรือ ต่างไปก็ตาม ก็เป็นความท้าทายไม่แพ้กัน ได้ลองประสบการณ์จริง ใช้จริงไปเลย คือเน้นเชิงปฏิบัติมากกว่า การเรียนระดับหลังปริญญานี้ก็คงไม่เหมาะกับ คนที่คิดเช่นนั้น

สิ่งที่คนทั่วไปที่เลือกเรียน ป โท ป เอกนั้น อันที่น่าจะเป็นแรงจูงใจบวกสำคัญที่สุด ก็คงจะเป็นโอกาสในการประกอบอาชีพ บางสาขา การเรียนในระดับ ป โท หรือ เอก น่าจะตรงกับความต้องการของตลาด หรือเป็นสิ่งจำเป็นมาก อาจจะเป็นงานอาจารย์ ซึ่งต้องมีการรับรองว่าได้ฝึกอบรมเรียนการทำวิจัยมาแล้ว ป เอก จึงมักเป็นคุณวุฒิที่กำหนดไว้ หรือ ผู้พิพากษา ที่ต้องเรียน เนติบัณฑิต เป็นสิ่งกำหนดตายตัว ว่าต้องมี นักวิทยาศาสตร์ ในห้องทดลองต่างๆ ซึ่งมักจะกำหนดคุณวุฒิ โท หรือ เอก ถ้าต้องการเป็นหัวหน้างาน กลุ่มงานหรือองค์กร หรืองานราชการต่างๆ ที่มักกำหนดวุฒิเอาไว้ชัดเจน วิชาชีพแพทย์ ที่ต้องการเรียนต่อเฉพาะทาง (ซึ่งอาจไม่เหมือนกับ ป โท ป เอก ทั่วไปนัก) ก็ต้องเรียนต่อ เพื่ออบรมความถนัดต่อจากนั้น ตรงนี้นี่แหละที่ทำให้หลายคนหันมาเรียนต่อ ป โท  ป เอกกัน อย่างน้อยก็ด้วยหวังว่าจะมีประโยชน์ต่อวิชาชีพการงานในอนาคต ฐานเงินเดือน โอกาสก้าวหน้า หรือ งานที่ตรงกับความสามารถเฉพาะ แต่ก็มีหลายงาน ที่การเรียนระดับนี้ถูกกล่าว ว่ามีวุฒิเกินจำเป็น จบ เอก จบ โท แคบๆ ทำให้ทำงานไม่ได้ หรือ เข้ากับคนอื่นไม่ได้ พูดไม่รู้เรื่อง อันนี้ก็เป็นทัศนคติ เชิงลบต่อการเรียนโท เอก ซึ่งก็ไม่ได้จริงเสมอไป สรุปว่า ถ้าการเรียนนั้นจะทำให้ได้ความรู้ ความสามารถ และคุณวุฒิที่เหมาะสมกับการงานที่เราสนใจ ให้โอกาสกับตัวเองได้มากกว่า ปริญญาตรี ก็สมควรที่จะพิจารณาเรียน โดยเฉพาะบางสาขาการงานที่ไม่มีทางเลือก เช่น ทางกฎหมาย หรือ ทางแพทย์ หรือ อาจารย์ ก็คงต้องเรียน แต่อย่างที่กล่าวแล้วว่า ควรจะต้องมีใจรักที่จะเรียน เพื่อตอบสนองความต้องการทางปัญญา และบุคลิกของตัวเองที่ชอบเรียน คิดว่าจะรับผิดชอบการเรียนด้วยตนเองในระดับหนึง (ซึ่งจำเป็นมากในการศึกษาระดับนี้)

คนที่เลือกเรียน เพราะไม่รู้จะทำอะไร เลือกเพราะพี่น้องก็เรียนกัน พ่อแม่ก็บังคับให้เรียน เพื่อนๆ ก็เรียน อยากเป็นนักเรียนไปเรื่อยๆ รอเวลาหางานไปสักปีสองปี แต่ไม่ได้สนใจตัววิชา ไม่มีแรงกระตุ้นจูงใจในการเรียน ทางวิชาการ หรืออาชีพที่เลือกก็ไม่ได้จำเป็นหรืออาจจะเกินจำเป็นที่จะเรียน เหล่านี้ คงไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ และยากที่ประสบความสำเร็จในการเรียน (อย่าได้เรียนโท เมืองนอกเพื่อหนีปัญหาประชดรักแบบในละครกันเลยนะครับ)

อย่าเรียนเพราะมันเท่ห์ ดูดี เป็นมหาบัณฑิต จบโท หรือเป็นดอกเตอร์ จบเอก เลยนะครับ เรียนแล้วได้ใช้ประโยชน์ เรียนแล้วรู้ขีดความสามารถของตน เรียนแล้วตอบแทนสังคม กันนะครับ
สำหรับผมแล้ว ผมเลือกเรียนต่อปริญญาเอก แม้ผมจะเป็นหมอ ซึ่งทั่วไป อาจจะคุ้นเคยกับการเรียนต่อเฉพาะทาง ซึ่งเป็นการศึกษาหลังปริญญาแบบวิชาชีพ ไปเป็นหมอตา หมอหูคอ หมอสู หมอศัลย์ หมออายุรกรรม หรือ เฉพาะลงไปอีก เช่นหัวใจ ตับ ไต สมอง ก็ว่ากันไป ผมก็เรียนเป็นหมอเฉพาะทางด้านอายุรกรรมแล้ว และกำลังสมัครเรียนเฉพาะทางด้านพันธุศาสตร์ ต่อ แต่ในระหว่างนั้น ผมซึ่งเลือกทำงานเป็นอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ จึงมีความต้องการความรู้ด้านการวิจัย ขั้นสูง และผมก็ชอบชีวตการเป็นนักเรียน ชอบการคิด ชอบการทำงานด้วยตนเอง และต้องการเรียนรู้ จึงเลือกที่จะเรียนต่อในระดับปริญญาเอก ในสาขาพันธุศาสตร์ ส่วนเรื่องราวจะเป็นอย่างไร ทำไมต้องอังกฤษ เราก็จะมาดูกันต่อไป ครับ หวังว่าคนอ่าน คงได้ไอเดีย บ้าง ว่าเราเหมาะจะเรียน โท เรียน เอกหรือไม่อย่างไรนะครับ

No comments:

Post a Comment