Monday, August 22, 2011

เรียนดอกเตอร์ที่อังกฤษ เหมือนหรือต่างจากที่อื่นอย่างไร (2)

บทความตอนแรก เรื่องเรียนดอกเตอร์ที่ไหนดี ได้กล่าวถึงในแง่ปริมาณ คราวนี้ก็ยังเป็นเรื่องปริมาณแต่เป็นสัดส่วนของนักเรียนต่างชาติ ถึงแม้เราจะยอมรับว่าการไปศึกษาต่อในต่างประเทศ คือ การไปเรียนรู้สิ่งอื่น นั่นคือวัฒนธรรม ภาษา และสังคม ของประเทศนั้นๆ ด้วย แต่เราก็คงไม่ปฏิเสธว่าการไปเรียนที่ที่มีคนในชาติบ้านเมืองเดียวกันอยู่ด้วย ก็ย่อมอุ่นใจกว่าการไปอยู่ในที่ที่ไม่มีคนจากประเทศของเรา ไปอยู่ด้วยเลย ในหนังสือเล่มที่นำมาเล่าในตอนที่แล้วนั้น บอกอย่างคร่าวๆ ว่ามีคนจากประเทศอื่น อยู่มากน้อยแค่ไหน แต่ก็ไม่ได้ลงรายละเอียดที่ชัดเจนว่ามาจากประเทศไหน หรือแบ่งกลุ่มว่ามาจากเอเชีย หรือที่ใด (เพราะแม้ไม่ใช่ไทย หัวดำ เหมือนกัน เป็นจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ ก็ยังดี แต่คนไทยมักไม่ชอบแขก และคนจีนแบบจี๊น จีนจริงๆ นี่ก็สุดๆ ไว้จะมาเล่าประสบการณ์ทีหลังครับ) จึงอาจไม่ได้ประโยชน์ในการตัดสินใจมากนัก จริงๆ คนไทยบางทีไปเรียนที่ใด ก็มักจะเลือกที่ที่รู้อยู่แล้วว่ามีคนไทยไป หรือมีชุมชนคนไทยอยู่มากพอสมควร มีปัญหาก็ช่วยเหลือกัน และพูดคุยกันได้อุ่นใจกว่าคนต่างชาติ แต่บางคนก็ชอบคบหาสมาคมกับนักเรียนที่นั่น โดยเฉพาะถ้าไปเรียนแต่เด็ก เพราะไม่ได้มีเพื่อนสนิทเป็นคนไทย มีแต่เพื่อนที่นั่น อันนี้ก็อาจจะรู้สึกแปลกด้วยซ้ำเมื่อมาเจอคนไทย อันนี้ก็คงแล้วแต่ ผมคงหมายถึงคนไทยที่จะไปเรียนที่นั่นเมื่อโตแล้วเสียเป็นส่วนใหญ่ (เท่าที่เห็น แต่เนื่องจากออกซ์ฟอร์ดมีคนไทยไม่มาก อาจจะเป็นตัวอย่างไม่ดีนัก คือ นักเรียนที่มาเรียนตั้งแต่ ประถม หรือ มัธยม เลย มักจะมีเพื่อนเป็นฝรั่งเสียมากกว่า แม้แต่เด็กนานาชาติ ก็ยังมีเพื่อนเป็นฝรั่งเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็อาจจะมีเพื่อนสนิทเป็นคนไทยสักหนึ่งหรือสองคน หรือเป็นกลุ่มที่เรียนด้วยกันมา แต่จะไม่เข้ามาร่วมกลุ่มกับเด็กไทยที่มาเรียนเมื่อปริญญาตรีหรือระดับหลังจากนั้นเท่าใดนัก)

จากข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศระบุว่า จำนวนคนไทยในต่างประเทศมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในสหรัฐอเมริกามีคนไทยอยู่ประมาณ 300,000 คน (จำนวนประชากรไทยในสหรัฐฯ Thai American=143,169
จากสถิติทางการ วิกิพีเดียระบุว่าคิดเป็นร้อยละ 0.5 ของประชากรทั่วสหรัฐฯ ร้อยละ 66 ของคนไทย-อเมริกันอาศัยอยู่ในเขตลอสแอนเจลิส)
 ขณะที่คนไทยในยุโรปมีประมาณ 150,000-200,000 คน นอกจากนี้ยังพบคนไทยมีอยู่กระจัดกระจายในเอเชีย เช่น ในญี่ปุ่นราว 22,000 คน และในตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดีอาระเบีย 20,000 คน คูเวต 8,000 คน รวมถึงในโอมาน กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน รวมๆ กันไม่น้อยกว่า 35,800 คน อย่างไรก็ตาม เราคงอยากทราบข้อมูลว่าคนในวัยเดียวกัน หรือ นักเรียนนักศึกษามากกว่า เพราะในประเทศตะวันออกกลางอาจจะเป็นคนไทยที่ไปทำงาน ในกลุ่มใช้แรงงาน หรือในยุโรป จำนวนหนึ่งก็เป็นคนไทยที่ไปตั้งรกราก ย้ายตามสามี หรือทำธุรกิจร้านอาหารซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นก่อนจะเลือกไปเรียนที่ใด เราก็อาจจะหาข้อมูลหรือเข้าไปดูตามเว็บไซต์สมาคมนักเรียนในที่ต่างๆ ถ้ามีการก่อตั้งเป็นสมาคม ก็มักจะมีจำนวนนักเรียนอยู่พอสมควร เป็นข้อมูลคร่าวๆ ไว้ก่อนก็จะเป็นการดี

ผุ้เขียนเองตอนเลือกเรียนก็ไม่ได้คำนึงถึงจุดนี้ และด้วยเมืองออกซ์ฟอร์ดมีนักเรียนไทยไม่มาก (ไม่ถึงหนึ่งร้อยคน) สมาคมนักเรียนจึงมีขนาดเล็ก สมัยนั้นยังเพิ่งเริ่มมีเฟซบุค ยังไม่ได้มีเพจให้คนมาสร้างเพื่อให้ข้อมูลฟรีๆ เว็บของสมาคมนักเรียนหาเจอยากและไม่มีข้อมูลมากนัก มาได้รู้จักเพราะน้ำใจนักเรียนไทยด้วยกัน ที่มาเห็นชื่อที่คอลเลจ ก็พาเดินแนะนำ หรือ เพื่อนที่รู้จักกันในเว็บบอร์ดพันทิพย์ ก็เลยทำให้ได้เจอคนไทย ที่มาเรียน หลังจากที่ไม่เจอคนไทยเลย มาสามเดือน เพราะไปช่วงปิดเทอมพอดี ไม่มีกิจกรรมของนักเรียน และส่วนใหญ่ นักเรียนก็กลับบ้านกัน พอจอคนไทยด้วยกัน ก็อุ่นใจ และรู้สึกดีมากๆ จึงคิดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ควรจะต้องคิดถึงไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว ในการตัดสินใจจะไปเรียนที่ใด

อย่างไรก็ดีสัดส่วนตัวเลขนักเรียนต่างชาตินั้นก็มีความสำคัญ เพราะถ้ายิ่งมาก ก็แสดงว่าเขามีประสบการณ์ในการดูแลนักเรียนจากต่างประเทศมาก เข้าใจปัญหา และสามารถช่วยเหลือเราได้ นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญเมื่อคนคุ้นเคยกับคนต่างชาติ เราก็จะปลอดภัยและสะดวกมากขึ้น กว่าการเป็นคนต่างถิ่น ต่างผิวสี ต่างภาษา ไปอยู่ในที่ที่ไม่มีคนชาติเดียวกันอยู่เลย (ผู้เขียน เคยต้องย้ายบ้านออกไปอยู่นอกตัวเมืองออกซ์ฟอร์ด อยู่เดือนหนึ่ง ซึ่งเมืองนั้นเป็นเมืองเล็กมากๆ มีคนไม่กี่พันแต่เป็นฝรั่งอังกฤษกันหมด เดินเข้าออกแต่ละที รู้สึกเหมือนตัวประหลาดมาก ไม่เหมือนออกซ์ฟอร์ด ซึ่งเป็นเมืองการศึกษา และมีนักเรียนจากหลากหลายเชื้อชาติมาอยู่ จึงไม่เป็นเรื่องผิดปกติ เดินไปก็ได้ยินภาษาแตกต่างกันไป จนบางทีไม่ได้ยินเสียงคนสนทนาเป็นภาษาอังกฤษเลยเสียด้วยซ้ำ)
ดังนั้นก็ขอนำตัวเลขเหล่านั้นมาแสดงไว้ ณ ที่นี้ด้วย

จำนวนนักเรียนต่างชาติ
เดนมาร์ก 1:20 (mostly from Scandinavian countries)
ฟินแลนด์ 1580
เนเธอร์แลนด์ No data
ฝรั่งเศส 25% and higher in 2007
เยอรมนี Not known but 10% were awarded for other countries
โปแลนด์ 1.5%
อังกฤษ 45440 (13800 from EU countries)
ออสเตรเลีย 16.7%
แคนาดา 21.1%
สหรัฐอเมริกา 14%
บราซิล 1.5%
จีน ไม่ทราบตัวเลข แต่ผู้เขียนบทคามนี้คาดว่าน้อยเนื่องจากข้อจำกัดเรื่องภาษา ซึ่งผมไม่เห็นด้วย เพราะมีชาวจีนโพ้นทะเลจำนวนมากที่นิยมส่งลูกหลานกลับไปเรียนยังประเทศจีน (แต่อาจจะไม่ถึงระดับปริญญาเอกอันนี้ไม่แน่ใจ) และยังมีชาวญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ที่มีภาษาและวัฒนธรรมใกล้เคียง รวมทั้งไทย เวียดนาม สิงคโปร์อีกด้วย
ญี่ปุ่น ร้อยละสิบแปด
อินเดีย น้อยมากราวร้อยละหนึ่ง
เม็กซิโก น้อยมากประมาณไม่ถึงร้อยละหนึ่ง
แอฟริกาใต้ ประมาณหนึ่งในสี่
ไทย มีนักเรียนต่างชาติ ร้อยละหนึ่ง เนื่องจากข้อจำกัดทางภาษา แต่ประเทศของเราอยู่แล้วนี่ครับ คงจะดีสำหรับคนไทย ถ้าดูในแง่นี้

ถ้าดูในแง่นี้แล้ว จะเห็นว่า อังกฤษเป็นประเทศที่มีชาวต่างชาติเข้ามาเรียนในระดับปริญญาเอกมากที่สุดตามสัดส่วน คือเกือบครึ่งหนึ่ง นั่นคือถ้าเอาจำนวนนักเรียนทั้งหมดระดับปริญญาเอก อังกฤษจะเป็นหนึ่งในแปดเท่าของอเมริกา ถ้านับขาจบ จะมีประมาณหนึ่งในสี่ของอเมริกา แต่ถ้านับนักเรียนต่างชาติแล้วจะพบว่า อังกฤษนั้นมีนักเรียนต่างชาติที่ไม่ใช่อียูหนึ่งในสามของนักเรียนต่างชาติของอเมริกา(ไม่ได้ระบุว่ามาจากประเทศใด) เลยทีเดียว


สำหรับข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน พบว่ามีนักเรียนไทยในอังกฤษทุกระดับชั้นประมาณสี่พันสามร้อยคน (จากคนไทยทั้งสิ้นราวสามหมื่นหกพันคน)


ส่วนนักเรียนไทยในอเมริกามีประมาณเก้าพันคน (เกินครึ่งหนึ่งเป็นปริญญาโทหรือเอกหรือหลังปริญญาตรี) โดยอยู่กันมากที่สุดในแคลิฟอร์เนีย เทกซัส แมสซาชูเซตส์ นิวยอร์ก และอิลลินอยส์ (แต่มีคนไทย หลายแสนคนในปัจจุบัน) จำนวนนักเรียนไทยในญี่ปุ่นมีประมาณสองพันห้าร้อยคน

อังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น  ด้วยเหตุผลใดก็ตาม จึงยังคงเป็นเป้าหมายในการไปศึกษาต่อของคนไทยเป็นอันดับแรกๆ ทั้งในเรื่องความหลากหลายของสาขาวิชาที่จะไปเรียน และจำนวนคนไทย ที่ไปอยู่กันมาก หรือมีเพื่อนหรือคนรู้จักไปอยู่ก็ยิ่งเป็นปัจจัยให้หลายคนเลือกที่จะไปเรียนประเทศเหล่านี้ ผู้เขียนสนับสนุนในเรื่องแรกคือเลือกหัวข้อหรือสาขาที่ตนสนใจจริง แต่เรื่องหลังแม้ไม่ใช่เรื่องหลัก แต่ก็เป็นเรื่องที่ช่วยในการตัดสินใจได้พอสมควร (รุ่นน้องคนหนึ่งได้ทุน แต่ต้องไปเรียนประเทศสวีเดน ก็ยังกลุ้มเรื่องนี้อยู่ไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว


เขียนมาถึงตรงนี้เปิดไปดูพบข้อมูลกระทรวงการต่างประเทศ บอกว่ามี่นักเรียนไทยในออสเตรเลีย ราวสองหมื่นคน แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นระดับใดบ้าง และมีคนไทยถึงราวสี่หมื่นคน ถ้าเป็นจริง ก็แสดงว่านักเรียนไทยมีอยู่ในออสเตรเลียน่าจะมากที่สุดแล้วนะครับ แต่สำหรับการเรียนในระดับปริญญาเอก ผมก็ยังเชื่อว่าอเมริกา น่าจะเป็นเป้าหมายเบอร์หนึ่ง ส่วนอังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา น่าจะใกล้เคียงกัน (ไม่มีหลักฐานยืนยัน)

สรปุแล้วข้อมูลที่สองเรื่องสัดส่วนนักเรียนต่างชาติ จำนวนนักเรียนไทย ในที่ต่างๆ ก็อาจจะช่วยในการตัดสินใจได้บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ

No comments:

Post a Comment